การขยายพันธุ์แคคตัสสามารถทำได้ 3 วิธี
คือ
1. เพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดเล็กๆ
ที่มีเป็นจำนวนมากในผลที่สุกเต็มที่ สังเกตว่าผลสุกเต็มที่หรือไม่
โดยสังเกตจาการเปลี่ยนสีของผล ผลนุ่มขึ้นหรือแห้ง
วิธีการเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ทั้งยังให้จำนวนต้นใหม่ในปริมาณมาก
เมล็ดที่จะนำมาเพาะนั้นต้องนำมาผึ่งให้แห้งในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเท
จากนั้นโรยเมล็ดลงบนวัสดุเพาะที่เป็นส่วนผสมระหว่างทรายและฮิวมัส (humus)
หรือปุ๋ยใบไม้ผุ แล้วโรยทรายทับอีกชั้นหนึ่ง วัสดุเพาะนี้ต้องอบฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาใช้งาน
หรือรดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราเข้มข้นที่ทำให้เจือจางแล้วจะเพาะในกระบะ ตะกร้า หรือในกระถางก็ได้
ที่สำคัญคือ ต้องรักษาความชื้นให้เหมาะสมและคงที่อยู่เสมอ
สำหรับอากาศร้อนอย่างบ้านเราควรใช้กระดาษหนังสือพิมพ์คลุมทับ
หรือใช้ถุงพลาสติกห่อกระถางเพาะเพื่อช่วยรักษาความชื้นไว้ความชื้นที่สูงเกินไปจะทำให้เมล็ดหรือต้นอ่อนเน่า
เช่น เป็นโรคเน่าคอดิน(damping-off)ซึ่งมีอาการโคนต้นช้ำเน่าเละ
หรือติดเชื้อที่เกิดจากแมลง ชนิดหลังนี้ควรกำจัดด้วยยาฆ่าแมลงประเภทสัมผัสตาย
ไม่ควรใช้ประเภทดูดซึม เพราะจะส่งผลถึงต้นเมื่อดูดน้ำและธาตุอาหารเข้าไป
ควรเลือกใช้ยาฆ่าแมลงให้เหมาะสมกับชนิดและอายุของต้นแคคตัส
เปอร์เซ็นต์การงอกและระยะเวลาในการงอกของแคคตัสนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการเพาะด้วย
2. การตัดแยก เป็นวิธีง่ายๆ
ใช้อุปกรณ์เพียงมีดคมเท่านั้น
แคคตัสส่วนใหญ่เมื่อถูกแยกจากต้นแล้วมักเกิดรากได้ง่าย เช่น สกุล Echinopsis,
Epiphyllum, Opuntia, Zygocactus (Christmas Cacti) ควรตัดแยกแคคตัสในต้นฤดูฝน
เพราะสภาพอากาศเหมาะสมต่อการ เจริญเติบโต เมื่อตัดต้นกิ่ง หรือหัวย่อยออกมาแล้ว
ควรผึ่งให้แห้ง หรือจุ่มในผงอะลูมิเนียม (aluminium powder) หรือฮอร์โมนเร่งราก
เช่น NAA, IAA, IBA ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันเชื่อโรคด้วย
จากนั้นนำลงชำหรือเพาะในวัสดุปลูกที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ระบายน้ำดี
แต่ต้องเก็บความชื้นได้สม่ำเสมอ โดยวิธีที่กล่าวมาแล้วในเรื่องการเพาะเมล็ด
ควรวงกระถางไว้ในที่ที่มีร่มเงา อากาศถ่ายเท เมื่อรากใหม่งอกแล้วควรรดน้ำ 2-3ครั้ง
ต่อสัปดาห์
3. การต่อยอด
ปัจจุบันนิยมทำกันมากกับแคคตัสพันธุ์ที่มีสีสันต่างๆ ที่ไม่ใช่สีเขียว เช่น สกุล Gymnocalycium
นำมาต่อกับต้นตอสีเขียว เช่น สกุล Cereus, Trichocereus หรือ Opuntia ซึ่งมีสารคลอโรฟีลล์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร
ดูดน้ำและแร่ธาตุไปเลี้ยงต้นที่มีสีที่หาอาหารเองไม่ได้
การต่อยอดช่วยร่นระยะเวลาการออกดอก ซึ่งปกติแคคตัสใช้เวลาอย่างน้อย 1-2
ปีกว่าจะเจริญเติบโตจนผลิดอกบางสกุลใช้เวลา 10-20 ปีทีเดียว
การต่อยอดจะช่วยให้ต้นแตกกิ่งก้านและออกดอกเร็วกว่าปกติ
ยกเว้นบางสกุลที่มี cephalium
เช่น Melocactus, Discocactus ที่ไม่ค่อยได้ผลในการร่นระยะเวลาการออกดอกนัก
วิธีการต่อยอดทำโดยใช้มีดที่คมและสะอาดปาดส่วนยอดของต้นตอ (stock)และส่วนโคนของต้นพันธุ์ (scion) ต้องระวังให้รอยตัดเรียบสม่ำเสมอ
เส้นผ่าศูนย์กลางรอยตัดควรใกล้เคียงกัน เพราะเนื้อเยื่อพืชแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ
ชั้นนอกที่เรียกว่า epidermis และเนื้อเยื่อชั้นในซึ่งเรียกว่าvascular
tissue เนื้อเยื่อชั้นนอกจะเจริญเติบโตเร็วกว่าชั้นใน
ซึ่งเป็นส่วนของท่อลำเลียงน้ำและอาหาร
ถ้าเนื้อเยื่อชั้นนอกของต้นตอและต้นพันธุ์เชื่อมติดกันและขยายขนาดจนรอยต่อสูงขึ้น
ทำให้เนื้อเยื่อชั้นในที่เจริญช้ากว่าไม่เชื่อมติดกัน ต้นพันธุ์มาวางซ้อนบนต้นตอ
ยึดด้วยด้ายหรือเทปใส จากนั้นนำกระถางไปวางไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท
และมีระดับความชื้นในอากาศไม่สูงมากนัก ช่วงนี้ยังไม่ต้องรดน้ำ หลังจากนี้ประมาณ
1-2 สัปดาห์ รอยต่อจะเชื่อมติดกัน แล้วจึงแกะด้ายหรือเทปใสออก รดน้ำตามปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น